‘อี ซูมาน’ โปรดิวเซอร์กิตติมศักดิ์แห่งค่าย SM ครองความสนใจจากสื่อชั้นนำของเกาหลีใต้ The Korea Economic Daily

Last updated: 14 ธ.ค. 2563  | 

‘อี ซูมาน’ โปรดิวเซอร์กิตติมศักดิ์แห่งค่าย SM ครองความสนใจจากสื่อชั้นนำของเกาหลีใต้ The Korea Economic Daily

              สื่อหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจชั้นนำของเกาหลีใต้ The Korea Economic Daily (เดอะ โคเรีย อีโคโนมิก เดลี่) ได้นำเสนอบทความอันน่าสนใจเกี่ยวกับ ‘อี ซูมาน’ (Lee Soo-Man) โปรดิวเซอร์กิตติมศักดิ์ของค่าย SM Entertainment (เอสเอ็ม เอ็นเทอร์เทนเม้นท์) ที่ได้รับการจับตามองในระดับโลก ภายใต้ชื่อหัวข้อข่าวว่า “ประธานาธิบดีทางวัฒนธรรมผู้วางรากฐานสำหรับอุตสาหกรรมเค-ป็อป” เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา

              ในบทความดังกล่าวนั้น ได้เริ่มแนะนำคุณ ‘อี ซูมาน’ (Lee Soo-Man) ว่า “เขาเป็นบุคคลที่ยืนยันให้เห็นว่า เค-ป๊อป สามารถแข่งขันได้ทั่วโลก และฉายาที่ว่า ‘ผู้บุกเบิกกระแสความนิยมของเค-ป๊อป’ กับ ‘ประธานาธิบดีทางวัฒนธรรมที่เป็นผู้นำมาตรฐานของวงการบันเทิง’ ก็เป็นฉายาที่ติดตัวเขามาโดยตลอด เส้นทางที่เขาเดินได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ของวงการเค-ป๊อป”

              จากนั้นได้กล่าวถึงปรัชญาและวิสัยทัศน์ของคุณ ‘อี ซูมาน’ ว่า “เขาได้สร้าง ‘ระบบสตาร์’ อย่างเป็นระบบที่เรียกว่า ‘CT (Culture Technology)’ เป็นครั้งแรกในวงการบันเทิงเกาหลี” โดยระบบ CT นี้ ได้ฝึกฝนเหล่านักร้องเค-ป็อปที่เป็นที่รู้จักในเรื่องของการเต้นสุดอลังการ และบทเพลงที่น่าตื่นเต้น ผ่านกระบวนการหลัก 4 ขั้นตอน ได้แก่ การคัดเลือก (Casting), การฝึกอบรม (Training), การผลิต (Producing), การจัดการ (Management) ฯลฯ ซึ่งระบบการฝึกฝนเค-ป๊อป ถือเป็นที่มาของความสามารถในการแข่งขันของเค-ป๊อปที่ครองตลาดทั่วโลกในปัจจุบัน อีกทั้งกระบวนการคัดเลือกเด็กฝึกหัด และการฝึกฝนเป็นเวลานานเพื่อสร้างนักร้องนั้น ก็เป็นไปไม่ได้ในสหรัฐอเมริกา หรือ ยุโรป

             ที่สำคัญโปรดิวเซอร์ ‘อี ซูมาน’ ได้นำเสนอทฤษฎีวิวัฒนาการ 3 ขั้นตอนของกระแสวัฒนธรรมเกาหลี (ฮันรยู) อันมีรากฐานมาจาก CT ว่า “ถ้าหากขั้นตอนที่ 1 คือการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ขั้นตอนที่ 2 จะเป็นการสร้างกลยุทธ์ในการขยายตลาดผ่านการร่วมมือกับบริษัทในท้องถิ่น หรือ บุคคลที่มีชื่อเสียงด้านบันเทิง และขั้นตอนที่ 3 คือ การถ่ายทอด CT ของ SM ไปยังบริษัทในท้องถิ่น และแบ่งปันมูลค่าเพิ่มที่สร้างขึ้นมาได้”

             โดย The Korea Economic Daily ได้แสดงความคิดเห็นว่า “โปรดิวเซอร์ อี ซูมาน ได้เขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของเพลงเกาหลียอดนิยม เริ่มต้นด้วย H.O.T. (เอชโอที) ที่ทำให้คำว่า ‘ฮันรยู’ เป็นที่นิยมจากความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของคอนเสิร์ตเดี่ยวในปักกิ่งประเทศจีนเมื่อปี 2000, BoA (โบอา) นักร้องเกาหลีคนแรกที่ครองตำแหน่งสูงสุดอันดับ 1 บนชาร์ต Oricon ของญี่ปุ่น, TVXQ! (ทงบังชินกิ) ที่สร้างสถิติเป็นนักร้องต่างชาติที่มีอัลบั้ม และซิงเกิ้ลครองอันดับ 1 ได้มากที่สุดบนชาร์ต Oricon ของญี่ปุ่น พร้อมกันนี้ยังมีจำนวนผู้เข้าชมสูงสุดในประวัติศาสตร์ด้วยทัวร์คอนเสิร์ตเดียว, SUPER JUNIOR (ซูเปอร์ จูเนียร์) ผู้นำกระแสเค-ป๊อปให้ร้อนแรงอย่างมากในสหรัฐอเมริกา อเมริกาใต้ ยุโรป ฯลฯ, Girls’ Generation (เกิร์ลส์ เจเนอเรชั่น) ที่ได้รับการประเมินว่าเป็นเกิร์ลกรุ๊ปที่ดีที่สุด, EXO (เอ็กซ์โซ) ศิลปินที่มียอดจำหน่ายล้านอัลบั้มเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี ของวงการเพลงเกาหลี, NCT (เอ็นซีที) วงเค-ป๊อปรูปแบบใหม่ที่สามารถเพิ่มสมาชิกวงในแต่ละภูมิภาคได้อย่างไร้ข้อจำกัด ภายใต้องค์ประกอบสำคัญ คือ การเปิดกว้างและการแผ่ขยาย, SuperM (ซูเปอร์เอ็ม) ศิลปินเอเชียวงแรกที่อัลบั้มเดบิวต์ครองอันดับสูงสุดบนชาร์ต ‘Billboard 200’ ได้ ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสำเร็จของการรวมทีม SuperM ที่ได้ชื่อว่าเป็น “K-Pop Avengers” ก็พิสูจน์ให้เห็นถึงสถานะของ อี ซูมานว่า เขาเป็น ‘นักวางกลยุทธ์เค-ป๊อปที่ดีที่สุด’”

             รวมถึงในบทความยังเน้นว่า “ไม่เพียงแต่ศิลปินเค-ป๊อปเท่านั้น โปรดิวเซอร์ อี ซูมาน มีอิทธิพลในทุกพื้นที่ของธุรกิจบันเทิง เขาได้สร้างแบรนด์การแสดงระดับโลกที่ประสบความสำเร็จอย่าง ‘SMTOWN LIVE’ (เอสเอ็มทาวน์ ไลฟ์) ซึ่งยืนยันถึงความสามารถในการผลิต และพลังของแบรนด์อีกครั้ง โดยในปี 2020 เขาทำให้อีกหนึ่งแสงแห่งความหวังได้เกิดขึ้นในวงการบันเทิงทั่วโลกที่กำลังซบเซา เพราะการระบาดของโควิด-19 ด้วยการนำเสนอทิศทางใหม่ สร้างแพลตฟอร์มคอนเสิร์ตออนไลน์แบบชำระเงินแห่งแรกของโลกชื่อว่า ‘Beyond LIVE’ (บียอนด์ ไลฟ์)”

             ไม่เพียงเท่านี้ The Korea Economic Daily ได้อธิบายถึงคุณอี ซูมาน เพิ่มเติมในอีกหลากหลายใจความ อาทิ “เก่งในการวิเคราะห์อุตสาหกรรมในอนาคต และการคว้าโอกาสต่างๆ เขาเป็นคนแรกที่เห็นความสำคัญของโซเชียล มีเดียในยุคดิจิทัล”, “โปรดิวเซอร์อี ซูมาน ถูกเรียกว่า ‘ผู้นำฮันรยูแห่งการท้าทายและวิสัยทัศน์’ เพราะศิลปินและดนตรีที่เขาผลิต ทำให้วัฒนธรรมยอดนิยมของเกาหลีมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นไปอีกขั้นในตลาดโลก อีกทั้งอิทธิพลนี้ก็ได้รับการประเมินว่าคือ สิ่งกระตุ้นให้วัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของเกาหลี เช่น ภาษาเกาหลี และอาหารเกาหลีหยั่งรากในตลาดโลกอย่างแน่นแฟ้น โดยในปี 2016 เขาได้รับเลือกให้เป็นคนเกาหลีคนแรกที่ได้รับรางวัล ‘2016 Asia Game Changer Awards’ จากสถาบัน Asia Society ของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นผู้ที่มีผลงานในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมของโลกด้วยกระแสฮันรยู”, “ในตลาดโลกเอง เขาก็ได้รับการยอมรับว่าเป็น ‘ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมเค-ป๊อป’ และได้รับรางวัลมากมาย โดยในปีนี้ (2020) เขาเป็นคนเกาหลีเพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับเลือกให้ติดอันดับใน ‘2020 Billboard Impact List’ ซึ่งเป็นลิสต์ที่เลือก 22 ผู้นำที่มีความสามารถอันโดดเด่นในการสร้างอนาคตของอุตสาหกรรมดนตรีระดับโลก” ฯลฯ


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้